อาหารสัตว์เลี้ยง ... เค็มจริงหรือ!!!!!
03.04.2018
Animal food

อาหารสัตว์เลี้ยง ... เค็มจริงหรือ!!!!!

Share:
Loading...

อาหารสัตว์เลี้ยง …เค็มเกินไป  ?


ความสำคัญของเกลือในอาหารของสัตว์เลี้ยง

 เกลือ ในที่นี้ ขอกล่าวในรูปแบบของ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl)  ซึ่ง โซเดียมคลอไรด์บริสุทธิ์ประกอบด้วยคลอไรด์ 60.67% และโซเดียม 39.33% ทั้งโซเดียมและคลอไรด์เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในอาหารของสุนัขและแมว

เกลือ

Cr. https://www.honestdocs.co/eat-more-salt-dangerous-than-you-think

 

บทบาทหน้าที่ของ โซเดียม (Na)

  • รักษาสมดุลกรด-เบส (ทำงานร่วมกับโพแทสเซียม (K) )
  • รักษาความดันระหว่างภายในและภายนอกเซลล์
  • มีบทบาทสำคัญต่อเมตาบอลิซึมของพลังงานในเซลล์
  • เกี่ยวข้องกับการสร้างและการสื่อกระแสประสาท
  • ควบคุมสมดุลของน้ำ ความรู้สึกกระหาย ความเข้มข้นของปัสสาวะ

การได้รับโซเดียมไม่เพียงพอ พบได้น้อยมาก ทั้งในสุนัขและแมว ซึ่งเมื่อขาด สัตว์จะเกิดอาการกระวนกระวาย มีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น  ดื่มน้ำน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ถ่ายปัสสาวะในปริมาณมากขึ้น เนื่องจากลดการดูดกลับน้ำที่หน่วยไต ดังนั้น ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจะต่ำลง และเยื่อเมือกมีลักษณะแห้ง  ในทางกลับกัน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้อาเจียนและทำให้เยื่อเมือกบุผิวแห้งได้เช่นกัน  หากสัตว์เลี้ยงในขณะนั้นได้รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ

บทบาทหน้าที่ของ  คลอไรด์ (Cl)

  • รักษาสมดุลกรด-เบส
  • รักษาความเข้มข้นของของเหลวภายนอกเซลล์

ผลของการขาดคลอไรด์ จะเกิดอาการอ่อนเพลีย  ไม่เจริญเติบโต  ทั้งนี้อาการเหมือนกับการขาดธาตุโพแทสเซียม  ส่วนในกรณีที่ได้รับมากเกินไป จะทำให้ระดับแคลเซียมและโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด  (metabolic acidosis)

ปริมาณความต้องการในระดับต่ำสุดของสัตว์เลี้ยง (Minimum requirement)

  • ตามมาตรฐานสากล NRC และ AAFCO แสดงค่าความต้องการในระดับต่ำสุดของโซเดียม ที่ระดับ

 0.06-0.30% และสำหรับคลอไรด์ ที่ระดับ  0.09-0.45% ตามลำดับ โดยเป็นการคำนวนต่อน้ำหนักของอาหารแห้ง ซึ่งรายละเอียดความต้องการแยกตามชนิดและอายุของสัตว์  ตามรายละเอียดในตาราง

  • สัดส่วนของโซเดียม ต่อ คลอไรด์ ในอาหารสุนัขควรมีสัดส่วน ที่ 1 : 1.5

แหล่งวัตถุดิบที่ให้ธาตุโซเดียม  ก็คือ  เกลือ  ซึ่งที่ใช้กันบ่อยๆ คือ เกลือแกง หรือ โซเดียมคลอไรด์  นอกจากนั้น มีเกลืออีกหลายรูปแบบ เช่น โซเดียมฟอสเฟต โซเดียมคาร์บอเนต โซเดียมไบคาร์บอเนต และโซเดียมไตรโพลีฟอสเฟต ทั้งนี้ อาหารจำพวกพืชผักจะมีโซเดียมประกอบอยู่ในปริมาณต่ำ ในขณะที่เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปจะมีโซเดียมสูงกว่าพืชผักประมาณสามเท่า

แหล่งวัตถุดิบที่ให้ธาตุ คลอไรด์  นั้น โดยปกติแล้วเป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) ที่มักใช้เสริมในอาหาร

การเติมเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ปริมาณ 0.25-0.5%  จะทำให้ได้โซเดียม 0.09-0.15% และคลอไรด์ 0.2-0.3% ในสูตรอาหาร ซึ่งโซเดียมและคลอไรด์ในเกลือแกงนั้น  มีความสามารถในการถูกย่อยและดูดซึมได้เกือบ 100% (ต่างจากเกลือในรูปแบบอื่นๆ)

วัตถุประสงค์อื่นๆในการเติมเกลือในอาหารสัตว์เลี้ยง

นอกจากมีการใช้เกลือเพื่อเป็นแหล่งของโซเดียม และ คลอไรด์ ที่เป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังพบว่า มีการใช้เกลือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆเช่น

  • เพื่อช่วยกระตุ้นการดื่มน้ำในแมวเพื่อส่งเสริมให้ปัสสาวะเจือจาง ซึ่งคาดว่าการลดความเข้มข้นของปัสสาวะ อาจจะช่วยลดโอกาสการเกิดนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตได้  โดยระดับโซเดียมที่แนะนำสำหรับอาหารแมว อยู่ที่ 3-0.6% และสำหรับสุนัข ควรมีค่าน้อยกว่า  0.3%  อย่างไรก็ตาม เจ้าของสัตว์เลี้ยงบางคนก็ยังกังวลอยู่เนื่องจากคิดว่าการบริโภคเกลือในปริมาณสูงจะส่งผลเสียต่อความดันโลหิตและการทำงานของไต  แต่ทั้งนี้มีการพบว่าสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับเกลือในปริมาณสูงขึ้นนั้น ก่อนที่จะได้รับในระดับขั้นอันตราย สัตว์เลี้ยงจะมีอาการปฏิเสธอาหาร มีอาการขย้อน หรืออาเจียน
  • เพื่อเป็นการถนอมอาหาร ซึ่งในขนมหรืออาหารกึ่งเปียกบางชนิด อาจมีการเพิ่มปริมาณเกลือเพื่อช่วยในการควบคุมแอคติวิตี้ของน้ำ (Water activity)

สุนัขและแมวรู้รสเค็มหรือไม่

สุนัขและแมวสามารถรับรู้รสชาติความเค็มได้  สำหรับแมว ยัง ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเกลือมีผลต่อความชอบของแมว แต่พบว่าแมวชอบกรดอะมิโนและสารกระตุ้นที่มีรสเปรี้ยวในระดับความเข้มข้นที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้หรือระดับที่ไม่พอใจ แต่เกลือสามารถเพิ่มความน่ากินของอาหารสุนัขได้  โดยพบว่าสุนัขจะชอบอาหารเปียกมากขึ้นเมื่อปริมาณเกลือในอาหารเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปริมาณของเกลือไม่มีผลต่อความน่ากินของอาหารแห้ง  (Roudebush et al., 2000)

สัตว์เลี้ยง

Cr. https://www.dogilike.com/content/caring/3347/
 

ปัญหาและข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับเกลือ

กลไกของควบคุมปริมาณโซเดียมในร่างกายสัตว์ ถูกคุมด้วยระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-แอลโดสเตอโรน (Renin-angiotensin-aldosterone) หรือ RAA  : ในสุนัขและแมวที่มีสุขภาพแข็งแรงจะสามารถปรับตัวต่อปริมาณโซเดียมในอาหารที่แตกต่างกันได้ด้วยกลไกของระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-แอลโดสเตอโรน โดยที่หากได้รับโซเดียม( Na) ในปริมาณสูง Renin จะถูกสร้างและหลั่งออกมาจากเซลล์ Juxtaglomerular ที่เยื่อบุผนังเส้นเลือด Afferent arterioles ใน Glomerulus หลังจากนั้นจะไปเปลี่ยน Angiotensinogen ให้เป็น Angiotensin I และ Angiotensin II ตามลำดับ โดยที่ Angiotensin II จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง Aldosterone ส่งผลเพิ่มการดึงน้ำกลับที่ไต และ Antidiuretic hormone ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในภายร่างกาย และกระตุ้นการกระหายน้ำ

ผลด้านความน่ากิน

  • อาหารที่มีเกลือสูง (โซเดียมคลอไรด์ 4%) ส่งผลให้สุนัขกินอาหารได้น้อยลงและมีการอาเจียน (Zentek and Meyer, 1995) และลูกแมวจะแสดงอาการปฎิเสธอาหารอย่างเห็นได้ชัดเจน เมื่ออาหารมีโซเดียมคลอไรด์ 1% (Yu et al., 1997)
  • เกลือจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารเมื่อเพิ่มปริมาณการใช้ในสูตรอาหาร แต่ทั้งนี้เพิ่มได้ถึง 50% ถ้ามากกว่านี้พบว่าไม่มีผลต่อการเพิ่มรสชาติและความน่ากิน

ผลด้านความดันโลหิตสูง

  • ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าปริมาณโซเดียมที่เพิ่มขึ้นในอาหารสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงในสุนัขและแมว
  • ในแมวที่มีสุขภาพดี ระดับโซเดียมที่เปลี่ยนแปลงไปในอาหารไม่มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิต (Luchschandercet et al., 2004; Buranarakari et al., 2004; Xu et al., 2006; Reynolds et al., 2013)
  • คำแนะนำสำหรับสุนัขและแมวที่มีความดันโลหิตสูง ให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมคลอไรด์สูง แต่ไม่ต้องถึงกับจำกัดปริมาณเกลือที่กิน

โรคหัวใจ

  • ผลที่ได้จากกงานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปไม่ได้เนื่องจากมีปัจจัยแปรปรวนในเรื่องของการเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงปริมาณโซเดียมที่ได้รับ (Freedman and Petitti, 2002)
  • ไม่มีความสัมพันธ์ที่เห็นได้ชัดระหว่างโรคหัวใจกับปริมาณโซเดียม ในอาหาร (Pedersen et al., 1994; Freeman, 2006; Pensinger, 1964; Freeman et al, 2006)

การทำงานของไต

  • เนื่องจากสุนัขและแมวหลายตัวที่ไตวายพบว่ามีความดันโลหิตสูง จึงมีความกังวลว่าปริมาณเกลือที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ภาวะของโรคแย่ลง อย่างไรก็ตามปัญหาหลักมักจะมาจากการได้รับโซเดียมในปริมาณที่ต่ำเกินไป ไม่ใช่สูงเกินไป โดยพบว่าแมวที่ได้รับโซเดียมต่ำ (โซเดียม 9 มก. / อาหาร 1 กก.) จะเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ไต (Reynolds et al., 2013) ดังนั้นอาหารที่มีโซเดียมคลอไรด์สูงกว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของไต

สรุปสาระสำคัญ

  • ในอาหารสัตว์เลี้ยงมีการใช้เกลือในระดับที่จำเป็นต่อความต้องการโซเดียมและคลอไรด์ของร่างกาย
  • ความต้องการขั้นต่ำ (ต่อน้ำหนักอาหารแห้ง) มีค่าตั้งแต่ 06-0.30% สำหรับโซเดียม และ 0.09-0.45% สำหรับคลอไรด์ โดยปริมาณความต้องการขึ้นกับชนิดสัตว์และช่วงวัย
  • สุนัขและแมวที่มีสุขภาพดีนั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับปริมาณโซเดียมที่แตกต่างกันในอาหารได้ด้วยกลไกของระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-แอลโดสเตอโรน และไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่แสดงว่าปริมาณโซเดียมที่เพิ่มขึ้นในอาหารจะเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง และคำแนะนำสำหรับสัตว์ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงในปัจจุบัน คือให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือสูงแต่ไม่ต้องถึงกับจำกัดปริมาณเกลือที่กิน
  • ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในสุนัขและแมวที่มีปัญหาโรคหัวใจต้องได้รับการศึกษาต่อไป
  • ปริมาณเกลือที่เพิ่มในอาหารช่วยเพิ่มปริมาณปัสสาวะและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต

อาหารสัตว์เลี้ยงที่วางขายเค็มเกินไปหรือไม่

อาหารสัตว์เลี้ยงไม่ได้เค็มมากเกินไปสำหรับสัตว์เลี้ยง  การระบุว่ามีเกลือเป็นส่วนผสมอาหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าอาหารนั้นมีปริมาณเกลือที่มากเกินไป  สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง วัตถุประสงค์หลักในการเติมเกลือ ไม่ได้ใช้เพื่อการปรุงรส แต่เป็นการเติมเกลือลงไปในอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อให้มีสารอาหารโซเดียมและคลอไรด์ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ที่บริโภคอาหารนั้น

Article Relates

  • มาแนะนำอาหารแมวแบบพรีเมี่ยม Me-O Gold ราคาสบายกระเป๋า
    11.03.2022

    มาแนะนำอาหารแมวแบบพรีเมี่ยม Me-O Gold ราคาสบายกระเป๋า

    Read more
    CatAnimal food
  • เสริมสร้างโภชนาการเหมียวน้อยหลังหย่านม ควรเลือกอาหารลูกแมวยี่ห้อไหนดี?
    19.01.2022

    เสริมสร้างโภชนาการเหมียวน้อยหลังหย่านม ควรเลือกอาหารลูกแมวยี่ห้อไหนดี?

    Read more
    Cat
  • PCG ชวนรู้ สุนัขชอบกิน อะไรและอาหารแบบไหนที่ห้ามกินโดยเด็ดขาด
    20.08.2021

    PCG ชวนรู้ สุนัขชอบกิน อะไรและอาหารแบบไหนที่ห้ามกินโดยเด็ดขาด

    Read more
    Animal foodDogTips for raising animals
  • ลดความจำเจด้วย ”อาหารแมวมีโอชนิดเปียก” กัน
    19.04.2021

    ลดความจำเจด้วย ”อาหารแมวมีโอชนิดเปียก” กัน

    Read more
    Animal foodCat
  • อาหารแมว Me-O ชนิดเปียก ชนิดเม็ด เลือกแบบไหนถึงจะดี?
    14.03.2021

    อาหารแมว Me-O ชนิดเปียก ชนิดเม็ด เลือกแบบไหนถึงจะดี?

    Read more
    CatAnimal food