
โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว (FLUTD)
ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักโรคภัยที่เกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยงจริง คิดว่าอาการนี้ไม่รุนแรงอะไร แต่ความจริงแล้วอาจจะมีผลต่อสุขภาพน้องแมวในระยะยาวก็เป็นได้ เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคหนึ่งที่น่าสนใจในแมวมาฝากทุกคนค่ะ และโรคนี้สามารถถึงขนาดทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้ด้วย
โรคนี้ก็คือ โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว (Feline lower urinary tract disease หรือ FLUTD) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระเพาะปัสสาวะ และท่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ น้องแมวจะปัสสาวะลำบาก หรือปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ มีความถี่ในการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาหรือวินิจฉัย อาจทำให้ไม่สามารถปัสสาวะได้ และไม่สามารถขับสารพิษออกมากับปัสสาวะ ทำให้เกิดโรคไตตามมา และมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ในที่สุดค่ะ
Cr. Wikimedia Commons
สาเหตุของโรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว
- เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ทราบสาเหตุ พบได้ 60 %
- เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ พบได้ 25 %
- ติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง พบได้ 5%
- มีสาเหตุอื่น ๆ เช่น เนื้องอก หรือความผิดปกติของระบบประสาท แต่พบได้น้อยมาก
แล้วจะดูได้ยังไงว่าแมวเรามีความเสี่ยงเป็นโรคนี้หรือเปล่า..
จริง ๆ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ทราบสาเหตุในประเทศไทย ได้แก่ เป็นแมวที่น้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม มีคะแนนความอ้วนผอม 3/5 และ 4/5 เป็นแมวพันธุ์ไทยขนสั้น (มีโอกาสมากกว่าแมวต่างประเทศพันธุ์ขนยาว) เป็นแมวตัวผู้ และที่สำคัญคือ หากเป็นแมวตัวผู้ที่ทำหมันแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าค่ะ

Cr. Pixabay
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว เพื่อนๆ ควรเลือกให้อาหารที่เหมาะสมทั้งคุณภาพและปริมาณ ไม่เลี้ยงแมวให้อ้วนจนเกินไป จัดเตรียมน้ำสะอาดให้แมวตลอดเวลา และหากเป็นแมวไทยเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว จะมีความเสี่ยงสูง เจ้าของจึงต้องคอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมและปริมาณปัสสาวะของน้อง เพื่อที่จะได้เห็นความผิดปกติแต่เนิ่นๆ และพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้น้องแมวมีสุขภาพดีอยู่กับเราไปนาน ๆ ค่ะ

Cr. คุณ Fukane Miko (Fan Page MeOThailand) Cr. งาน TIDS2017
ข้อมูลอ้างอิง
1.Pet owner education atlas : cats , SERVET, M Luisa Palmero,2014
2.Risk factor of feline idiopathic cystitis in Thailand, Faculty of Veterinary Science Chulalongkorn university, J.Benjasiriwan, 2017