
เหตุใดถึงต้องดูแลน้องหมา-น้องแมวของเราเป็นพิเศษในวันลอยกระทง
ในฐานะเจ้าของหรือผู้เลี้ยงดู หลายท่านคงเคยได้ยินกันมาตลอดว่าควรจะดูแลเหล่าน้องหมาน้องแมวของเราเป็นพิเศษในช่วงวันลอยกระทง แต่ทุกครั้งที่ได้ยิน เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าคะว่าเพราะเหตุใดกันถึงเป็นเช่นนั้น หรือแม้กระทั่งว่าจริงหรือเปล่าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ วันนี้ PCG เตรียมพร้อมช่วยไขทุกข้อสงสัย ต้อนรับวันลอยกระทงที่กำลังจะถึงนี้
ข้อสงสัย 1: จริงหรือเปล่าที่ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษในช่วงวันลอยกระทงและเพราะเหตุใด?
เป็นความจริงค่ะ หากลองดูสถิติการแจ้งสัตว์เลี้ยงหายในทุก ๆ ปี เราจะเห็นเลยทันทีว่าช่วงเวลาที่ ‘มีการแจ้งสัตว์เลี้ยงหายเข้ามามากที่สุด’ ส่วนใหญ่ คือ ช่วงคืนวันลอยกระทงและช่วงคืนวันปีใหม่ โดยสาเหตุก็เพราะในช่วงคืนเทศกาลเหล่านี้ แทบทุกแห่งจะมีการจุดพลุ มีกิจกรรมความบันเทิงหลากหลายรูปแบบที่ส่ง ‘เสียงดัง’ ที่ เป็นเหตุให้สัตว์เลี้ยงตื่นกลัว ตื่นตระหนกจนอาจหายไปออกจากบ้านไปได้ สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจหลงไปไม่ไกล สามารถหาทางกลับมายังบ้านหรือตามหาเจอ แต่สัตว์เลี้ยงบางตัวก็อาจเตลิดไปไกลจนหาทางกลับมาไม่ได้และกลายเป็นสัตว์จร ตลอดจนอาจประสบอุบัติเหตุ โดนรถชน, ตกน้ำ, และหรือบาดเจ็บได้ ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง รวมทั้งเทศกาลเฉลิมฉลองส่วนใหญ่ที่อาจมีการใช้เสียงดัง องค์กรแต่ละแห่งจึงมักจะออกมาเตือนให้ผู้เลี้ยงคอยจับตาและดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่าง ๆ
ข้อสงสัย 2: ทำไมหมา-แมวจึงกลัวเสียงดัง เป็นธรรมชาติของพวกเขาอยู่แล้วหรือเปล่า?
น้องหมาน้องแมวของเรานั้นมี ‘ภาวะความกลัว’ เวลาได้ยิน ‘เสียงดัง’ เหมือนกับมนุษย์ เรานี่หล่ะค่ะ กล่าวคือ เวลาเราได้ยินเสียงดังแบบไม่ทันตั้งตัว เราก็ตกใจ นั่นก็ถือเป็น ‘สัญชาตญาณ’ เช่นเดียวกันกับน้องหมาน้องแมวของเราเลยค่ะ เวลาที่สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง ได้ยินเสียงดังใดที่ผิดแปลกขึ้นมา สัญชาตญาณแรกที่จะทำงานแน่นอนคือ การส่งสัญญาณเตือนยังสมองว่าอาจกำลังมีอันตราย แต่ในขณะที่มนุษย์สามารถตรวจสอบและตีความอันตรายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า รู้ว่าเสียงดังกล่าวเป็นอันตรายหรือไม่เป็น แน่นอนว่าเหล่าสัตว์ไม่อาจทำได้เทียบเท่า พวกเขาไม่อาจแยกได้ว่านั่นเป็นเสียงของการเฉลิมฉลองหรือเสียงอันตราย สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือ ‘การป้องกัน’ ไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้วยการวิ่งหนีหรือแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ (เช่น เห่า/ร้อง) ต่อเจ้าของนั่นเอง
นอกจากนี้ คล้ายคลึงกับมนุษย์ น้องหมาน้องแมวบางตัวยังอาจมี ‘ภาวะวิตกกังวลง่าย’ กว่าตัวอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุจากการลักษณะการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ไม่ค่อยได้พบเจอกับผู้คนแปลกหน้าหรือคุ้นชินกับเสียงดังมากนัก โดยสาเหตุในส่วนนี้ ส่วนใหญ่จะพบได้มากกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้านที่อาจไม่ค่อยได้มีโอกาสปรับตนเองให้คุ้นชินกับสถานการณ์ภายนอก
ข้อสงสัย 3: หมา VS แมว กลัวเสียงดังแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
หากกล่าวถึงในแง่ของสาเหตุความกลัว กล่าวได้ว่าแทบไม่แตกต่างกัน ทั้งหมาและแมวนั้นสามารถกลัวเสียงดังได้ ทั้งจากเพราะความตระหนกฉับพลันหรือเพราะภาวะความวิตกง่ายเป็นทุนเดิม แต่ถ้าหากกล่าวในแง่ของ ‘ลักษณะหรือปฏิกิริยาการกลัว’ ต้องบอกว่าค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร สำหรับน้องหมา ส่วนใหญ่มักจะวิ่งไปวิ่งมา เห่า/ส่งเสียงดัง ตลอดจนอาจกัดข้าวของต่าง ๆ ภายในบ้าน ทว่าน้องแมว ส่วนใหญ่อาจจะไม่แสดงปฏิกิริยารุนแรงเหมือนน้องหมา แต่จะพยายามหาที่มิดชิดเพื่อทำการหลบ เช่น ใต้เตียง หรือภายในตู้
โดยในบริบทของแมว ข้อสำคัญประการหนึ่งที่ผู้เลี้ยงอาจต้องตระหนักคือ แม้น้องแมวของเราอาจจะดูไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตระหนกเทียบเท่าน้องหมา แต่ไม่ได้แปลว่าภายในเขาไม่ได้รู้สึกตระหนกและกลัวอยู่ Kim Campbell Thornton นักเขียนประจำเว็บไซต์ Fear Free Happy Homes และเจ้าของบทความ “Cat-cophony? Take The Fear Out Of Loud Noises” ชี้ให้เห็นว่าแม้ภายนอกดูเหมือนแมวจะแสดงปฏิกิริยาความกลัวเล็กน้อย แต่ภายในพวกเขาหวาดกลัวและระแวงไม่ต่างกับน้องหมา “ในระดับร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจของแมวสูงขึ้น รวมทั้งความดัน” Thornton กล่าว โดยในแมวบางตัวที่อาจมีภาวะความวิตกง่ายเป็นทุนเดิม อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ข่วนคนใกล้ตัว ได้เช่นกัน
ข้อสงสัย 4: ควรดูแลน้องหมา-น้องแมวของเราอย่างไรให้ดีที่สุดในค่ำคืนวันลอยกระทง
เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น PCG ขอแนะนำแนวทางการดูแลน้องหมาแมวในค่ำคืนวันลอยกระทงตลอดจนงานเฉลิมฉลองที่อาจมีเสียงดัง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการพาหมาแมวของเราไปเที่ยวงานเทศกาลดังกล่าว หรือหากไม่สามารถเลี่ยงได้ควรใส่ปลอกคอและติดป้ายชื่อพร้อมเบอร์โทรของเจ้าของกันไว้ เผื่อกรณีที่มีการผลัดหาย อย่างน้อยหวังได้ว่าจะมีการติดต่อกลับมาจากผู้ที่พบ
- ก่อนช่วงเวลาจุดพลุ อาจพาสัตว์เลี้ยงออกเดินเล่นภายนอก เพื่อให้เขาผ่อนคลาย ตลอดจนคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ในวันนั้น และพาเข้าภายในบ้าน เมื่อใกล้เวลาเฉลิมฉลอง
- ปิดหน้าต่าง, ปิดผ้าม่านและเปิดเพลงที่ให้ความผ่อนคลาย งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการเปิดเพลงผ่อนคลายคลอ ช่วยลดระดับความเครียดและความตระหนกของสัตว์เลี้ยงลงได้ ในลักษณะของการเป็นเสียง ‘White Noise’ หรือ เสียงรบกวนที่ไพเราะและน่าฟัง อย่างไรก็ดี ไม่ควรเปิดดังมากจนเกินไปนักเพื่อหวังกลบเสียงด้านนอก เพราะอาจกลายเป็นเสียงเพลงของเราเองที่ทำให้สัตว์เลี้ยงตกใจ ควรเปิดแต่เพียงพอดีและพยายามหากิจกรรมอื่นทำร่วมกับเขา เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
- จัดหาที่ทางที่คุ้นเคยและปลอดภัยในช่วงเวลาเสียงดัง ยกตัวอย่าง เช่น สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจชอบอยู่ในผ้าห่มกับของเล่นที่คุ้นเคย ตลอดจนชอบกินจุบกินจิบช่วงดึก บรรดาอาหารสุนัขและอาหารแมวรสชาติดีจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันในการช่วยเบี่ยงเบนความสนใจพวกเขาจากเสียงดังภายนอก
- ท้ายที่สุด หากสัตว์เลี้ยงส่งเสียงหรือไม่อาจควบคุมความกลัวตนเองได้ ผู้เลี้ยงไม่ควรตะโกนดุ แต่ควรปล่อยให้เขาได้แสดงความกลัวออกมาก่อนสักนิด และค่อย ๆ หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ, เปลี่ยนเพลง, ตลอดจนให้ความรู้สึกปลอดภัยกับเขาผ่านการกอดหรือลูบตัวเบาๆ เป็นต้น
จบลงแล้วสำหรับการไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลน้องหมาน้องแมวเป็นพิเศษในช่วงวันลอยกระทง PCG หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความของเราจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อย แล้วพบกันในบทความถัดไปนะคะ